ประวัติวัด


ประวัติความเป็นมาของวัดบ่อเงิน
         วัดบ่อเงินตั้งอยู่ริมคลองบางหลวงไหว้พระ    แถบฝั่งเหนือ อยู่ในเขตท้องที่ ๑ ตำบลคูตัน ( เดิม ) ปัจจุบันเป็นตำบลบ่อเงิน  อำเภอลาดหลุมแก้ว  จังหวัดปทุมธานี  พื้นที่ดินที่สร้างวัดเดิมเป็นที่ดินของขุนวิเศษภักดี            ซึ่งเป็นนายอำเภอเมืองปทุมธานี       กับ     นางพ่วง   ภรรยา   และ  นายยม   พร้อมบุตร     ได้พร้อมใจกันมอบที่ดิน  ๑ แปลง กว้าง ๒ เส้น ยาว ๒๕ เส้น  ให้แก่
พระครูบวรธรรมกิจ   (หลวงปู่เทียน) เจ้าอาวาสวัดโบสถ์  อำเภอเมืองปทุมธานี ให้ถือเป็นกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงนี้   พระครูบวรธรรมกิจได้มอบให้ นายหรั่งกับนายพุด เช่าทำนาโดยไม่ต้องเสียค่าเช่าเพียงแต่ให้หักร้างถางพงให้เตียนเพราะแต่ก่อนเป็นป่า    แต่ นายหรั่งกับนายพุดก็ทำนาได้ ๒ ปีเท่านั้น  



      พระครูบวรธรรมกิจ  ( หลวงปู่เทียน  ปุพฺผธมฺโม )
    เจ้าอาวาสวัดโบสถ์   อำเภอเมือง   จังหวัดปทุมธานี  
     ผู้ริเริ่มสร้างวัดบ่อเงิน





                                         เมื่อ พ.ศ.  ๒๔๕๔   นายเผือนได้นิมนต์        ท่านพระครูบวรธรรมกิจ ไปทำพิธีตัดจุกที่บ้านตำบลคูตัน ( เดิม )  เมื่อเสร็จพิธีตัดจุกแล้วท่านพระครูธรรมกิจ จึงปรารภขึ้นว่า หนทางไกลมากตั้ง ๕๐๐ เส้น  เดินเมื่อยเหลือเกิน ถ้าจะตั้งสำนักสงฆ์ขึ้นไว้ในที่นาของฉันสักแห่งหนึ่งเห็นจะดี  เพื่อจะได้พักพาอาศัยและเป็นการสะดวกแก่การทำบุญ อื่นๆ ด้วยชาวบ้านได้ยินจึงสาธุเห็นชอบด้วย จึงพร้อมใจกันออกค่าวัสดุก่อสร้างคนละ ๒๐ บาท รวบรวมซื้อวัสดุก่อสร้างพอที่จะก่อสร้างได้แล้ว เมื่อขึ้นปี พ.ศ. ๒๔๔๕  พระครูบวรธรรมกิจ จึงไปขออนุญาตปลูกสร้างต่อ        พระอริยธัชชะ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี  วัดเทียนถวาย   เมื่อได้รับอนุญาตให้ปลูกสร้างแล้ว      ก็เริ่มดำเนินการสร้างทันที


สิ่งที่ก่อสร้างในครั้งนั้น  คือ

.     ศาลาการเปรียญ ๓ ห้อง พื้นปูกระดาน มีระเบียงรอบ ยาว ๖ วา ๒ ศอก กว้าง ๔ วา    ๒ ศอก  หลังคามุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์
๒.   กุฏิ ๓ ห้อง หลังคามุงจาก ฝาจาก พื้นปูกระดาน ๒ หลัง
๓.    ส้วม ๒ ห้อง หลังคามุงกระเบื้อง
๔.    ขุดสระน้ำยาว ๑๐ วา กว้าง ๕ วา ลึก ๑๐ ศอก  ( อยู่หน้าวัดด้านซ้ายมือ บัดนี้ถมเสียแล้ว )
ในศกนี้  ท่านพระครูบวรธรรมกิจได้นิมนต์พระภิกษุในวัดโบสถ์เข้าจำพรรษา ๕ รูป จนเมื่อพ.ศ. ๒๔๕๖ จึงได้สร้างกุฏิอีก ๒ หลัง หอสวดมนต์ ๑ หลัง ๓ ห้อง มีระเบียงรอบ มุงสังกะสี  และในปีเดียวกันนี้ พระครูบวรธรรมกิจได้จัดพระภิกษุในวัดโบสถ์อีก ๔ รูป พระที่ส่งมาชุดนี้คือ พระภิกษุอ๊อด พระภิกษุละเอียด พระภิกษุแข (พระครูวิบูลย์ธัญญสาร  เจ้าอาวาสวัดนางคัญ-จันตรี ) และพระภิกษุเบี้ยว จนอยู่ต่อมาความเจริญมากขึ้น และได้มีผู้มีจิตศรัทธาท่านหนึ่ง         มีความคิดเห็นว่า  ศาลาการเปรียญหลังที่สร้างไว้แต่เดิมเล็กมาก  ไม่พอเพียงกับประชาชน  ท่านผู้นั้นจึงไปขออนุญาตต่อพระครูบวรธรรมกิจเพื่อที่จะทำการก่อสร้างขึ้นใหม่ ท่านพระครูบวรธรรมกิจก็ยินดีอนุญาตให้สร้างได้  ท่านผู้นั้นคือ นาย แดง  ถือธรรม

     ครั้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๐ นายแดง   ถือธรรม   จึงจัดการสร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ ๔ ห้อง  มีระเบียงรอบ  หลังคามุงกระเบื้อง พร้อมทั้งยกช่อฟ้าเสร็จ ต่อมาเมื่อมีประชาชนมากขึ้น แต่การศึกษายังไม่มี    ท่านพระครูบวรธรรมกิจจึงไปขออนุญาตทางราชการขอจัดตั้งโรงเรียนขึ้น ในปีนี้ท่านพระครูบวรธรรมกิจได้รายงานกราบเรียนท่านเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ขอให้ แต่งตั้งพระภิกษุละเอียด โกณฑญฺโญ เป็นเจ้าอาวาสปกครองวัด  เมื่อเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีและวัดเทียนถวายได้รับทราบจากการรายงานกราบเรียนของท่าน ที่ได้นำเนินการตั้งหลักพระพุทธศาสนาขึ้นที่ ตำลบคูตัน ก็ยินดีอนุโมทนา และแต่งตั้งให้พระภิกษุละเอียด  โกณฑญฺโญ  เป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดบ่อเงินรูปแรกเป็นลำดับเรื่อยมา    ในระหว่างนั้นท่านพระครูบวรธรรมกิจมีความประสงค์จะสร้างพระอุโบสถขึ้น  เพื่อจะได้พระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาสะดวกแก่การทำสังฆกรรมซึ่งเป็นกิจสงฆ์ ท่านจึงรายงานขอให้เจ้าหน้าที่ที่ดิน ทำการรังวัดแบ่งแยกโฉนดออกจากของท่าน เพื่อถวายให้เป็นที่ธรณีสงฆ์แยกออกเป็นเนื้อที่ยาว ๓ เส้น ๕วา พร้อมกันนี้    ก็ได้มี นางแก้ว ยกที่ดินให้อีกกว้าง ๑ เส้น ยาว ๓ เส้น รวมมอบถวายให้เป็นที่ธรณีสงฆ์  ท่านพระครูบวรธรรมกิจ ก็รายงานกราบบังคมทูลขอพระบรมราชาอนุญาตเป็นวิสุงคามสีมาต่อไปตามลำดับชั้น และได้รับพระราชทานเป็นวิสุงคามสีมาในปีเดียวกันนั้น

    เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๕   ครั้น ได้อภิลักขิตฤกษ์อันเหมาะสม ก็อาราธนาพระเดชพระคุณพระอริยธัช  เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี และพร้อมด้วยพระยาปทุมธานีศรีมหนัทยเขต  ข้าหลวงจังหวัดปทุมธานี มาปักเขตวิสุงคามสีมา เป็นเขตกว้าง ๒ เส้นยาว ๒ เส้น และท่านพระครูบวรธรรมกิจก็ประกาศแก่บรรดาสนิกชนที่อยู่ในบริเวณนั้น  ให้ช่วยบริจาคทรัพย์ ได้เงินหนึ่งหมื่นบาทเศษ แล้วก็ดำเนินการขุดก่อรากอุโบสถทันที  ตัวอุโบสถยาว ๘ วา ๒ ศอกกว้างวัดภายใน ๓ วา ๑๖ นิ้ว  กว้างจากภายนอก ๔ วา วัดจากพื้นสูงถึงเพดาน ๓ วา ๑ ศอก ในปีนั้นสร้างได้เพียงขอบหน้าต่างเท่านั้น อุปกรณ์การก่อสร้างหมดจึงหยุดการก่อสร้าง และรวบรวมทุนได้ใหม่คราวนี้ทำถึงมุงหลังคา ขาดแต่เพียงช่อฟ้าใบระกาเท่านั้น อยู่ต่อมาพระอธิการละเอียด ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของ      วัดบ่อเงิน ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๗ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ได้สมณศักดิ์ตำแหน่งเจ้าคณะหมวด (ปัจจุบันเรียกเจ้าคณะตำบล)   และในปีเดียวกัน ( พ.ศ. ๒๔๗๐ ) นายแดง  ถือธรรม ได้สร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ขึ้นในวัดบ่อเงินดังกล่าวมาแล้วในตอนต้น

     ในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ทางการสงฆ์เห็นชอบจึงมอบตราตั้งและแต่งตั้งให้เจ้าอธิการละเอียดเป็นอุปัชฌาย์ อยู่ต่อมาเจ้าอธิการละเอียดอาพาธเป็นฝีที่ทรวงอกอาการสาหัส ฝีกินทะลุข้างในไม่สามารถจะรักษาให้หายได้จนถึงแก่มรณภาพในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ และทำการฌาปนกิจศพท่านเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ หลังจากเจ้าอธิการละเอียดมรณภาพแล้ว ทางการได้มอบให้ พระภิกษุพูน เปรี้ยวอ่อน เป็นผู้รักษาการาแทนเจ้าอาวาส พระภิกษุพูนรักษาการได้ ๒-๓ ปี ทางการคณะสงฆ์จึงได้แต่งตั้ง  พระภิกษุละมูล ( เสภา ) วุฒิสาโร เป็นเจ้าอาวาส ขณะนั้นพระภิกษุละมูลอุปสมบทได้เพียง ๒ พรรษาเท่านั้น  และด้วยคุณงามความดีของท่าน จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็น     พระอธิการ เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๔๘๗  และในขณะ      เดียวกันท่านได้บอกบุญก่อสร้างซุ้มประตูหน้าต่างได้เงินค่าก่อสร้าง ๓ หมื่นเศษ
จนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ ได้หาทุนผูกพัทธ์สีมาฝังลูกนิมิตพร้อมด้วยการฉลอง ต่อมาทางสงฆ์เห็นว่า พระอธิการละมูลเป็นผู้หนึ่งที่ค้ำจุนพระพุทธศาสนา จึงได้แต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๕  ครั้นปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ทางราชการคณะสงฆ์ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานสมณศักดิ์ชั้นสัญญาบัตรพัดยศให้อธิการละมูลเป็น พระครูวุฒิสารสุนทร  เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๕  และ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลชั้นโท เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๖

           วัดบ่อเงิน  เดิมที่เดียวตั้งแต่สมัยพระครูบวรธรรมกิจ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดโบสถ์ ( ตรงข้ามที่ทำการจังหวัดปทุมธานี ) เป็นผู้สร้างวัดนี้ ชาวบ้านจึงเรียกวัดนี้ว่า “วัดโบสถ์”  ตามวัดที่ผู้สร้าง อยู่มาหลายปียังมีชนอีกบางพวกเรียกวัดนี้ว่า “วัดลาด”  ที่เรียกเช่นนี้ เพราะว่าวัดนี้ตั้งอยู่ในที่ลาดและลุ่มมาก อยู่ต่อมาทางวัดจะบอกบุญหาทุนก่อสร้างหรือทำอะไรก็ตาม ก็หาได้ง่ายไม่ยากในสมัยนั้น เพราะชาวพุทธที่อุปการะมีมาก ประกอบกับพื้นที่แผ่นดินบริเวณนั้นมีมากมายหลายพันไร่ และเป็นที่ราบลุ่มทำนาข้าวได้ผลดี  เมื่อข้าวดีทางวัดก็หาเงินได้มากผู้ที่พบเห็นจึงให้นามว่า  “วัดบ่อเงิน”
            
            วัดบ่อเงินนี้ไม่มีอะไรเป็นศิลปะโบราณ  เพราะวัดนี้เป็นวัดจัดว่าใหม่สร้างยังไม่ถึงร้อยปี  แต่สิ่งที่จัดว่าศักดิ์สิทธิ์และมีบุคคลเกรงกลัวอยู่บ้างก็คือ   พระประธานในพระอุโบสถ  ซึ่งนักยิงนกเกรงมากเพราะนักยิงนกหลายคนได้ใช้ปืนยิงนกที่เกาะหลังคาหรือยิงปืนข้ามหลังคาอุโบสถ ปรากฏว่ายิงปืนไม่ออก   ปืนไม่เคยลั่นเลย

  วัดบ่อเงิน  นี้มีการกุศลประจำปี  คือการจัดงานตักบาตรพระร้อยและปิดทองพระในวันเดียวกัน   ตรงกับวันแรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี งานนี้มีมหรสพสมโภชจนตลอดงาน โดยไม่มีการเก็บค่าผ่านประตู ( วัดนี้ไม่เคยเก็บค่าผ่านประตูเมื่อมีงาน )  การตักบาตรพระร้อยจะรับบาตรในเรือคนตักบาตรอยู่ในเรือที่จอดริมตลิ่งในคลองหน้าวัด  ประมาณเรือที่มาใส่บาตรไม่น้อยกว่า ๓๐๐ ลำ สำหรับเรือพระที่รับเรือหนึ่งลำมีพระรับบาตรที่นั่งมาตั้งแต่ ๑ รูป ถึง ๔ รูป  เรือรับบาตรไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ลำ พระไม่น้อยกว่า ๑๘๐ รูป       พระที่รับบาตรนี้ก็ได้นิมนต์มาจากวัดต่าง ๆ  งานตักบาตรพระร้อยสนุกมากเพราะมีคนมาก และคนมาจากถิ่นอื่นกันมากอีกด้วย   ในงานมีปมด้อยอยู่อย่างหนึ่งคือน้ำมากเพราะตรงกับฤดูน้ำหลาก เกือบทุกปีน้ำจะท่วมลานวัด เพราะลานวัดต่ำและอยู่ในที่ลุ่ม งานนี้จัดขึ้นโดยไม่หวังรายได้ แต่จัดขึ้นเพื่อให้สนุกสนานเท่านั้น        เฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเป็นระเบียบประเพณีและวัฒนธรรมไม่มุ่งรายได้อันใด  แต่ก็ยังมีเงินเหลืออีกมาก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จเยี่ยม  พระครูบวรธรรมกิจ หรือ  หลวงปู่เทียน  ผู้ก่อตั้งวัดบ่อเงิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น